ประวัติหมากล้อม


ชื่อทางการของหมากล้อมที่เรียกกันทั่วโลกคือ ”โกะ”(Go) ในประเทศจีนเรียก “เหวยฉี” (wéiqí ??) ประเทศญี่ปุ่นเรียก “อิโกะ” (Igo ??) ประเทศเกาหลีเรียก “บาดุก” (Baduk ??) ในประเทศไทยนั้นเรียก ”หมากล้อม” โดยแปลจากคำว่า ”เหวยฉี” ของจีน “เหวย” ที่แปลว่า การล้อม ปิดกั้น “ฉี”ที่เป็นความหมายของหมากกระดานของจีนเช่น หมากรุกจีนเรียกว่า "เซียงฉี" หมากล้อมไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด เป็นเกมหมากกระดานที่มีประวัติอันยาวนานไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ถูกคิดค้นขึ้นในประเทศจีน แต่ก็มีคำกล่าวว่าอาจเกิดขึ้นครั้งแรกในทิเบต เป็นภูมิปัญญาตะวันออกที่แสดงความเก่าแก่และไพศาล ลึกซึ้งของอารยธรรมจีนเปี่ยมไปด้วยคุณค่า จัดเป็น 1 ใน 4 สุดยอดของศิลปะประจำชาติจีนได้แก่ ดนตรี หมากล้อม ลายสือศิลป์ และภาพวาด

มีตำนานได้กล่าวไว้ ว่าหมากล้อมได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยกษัตริย์เหยา(ครองราชตั้งแต่ปี 2357-2255 ก่อนคริสต์ศักราช) เพื่อใช้ในการสอนสติปัญญาของบุตรชาย และยังมีอีกหลายทฤษฎีเช่น ถูกสร้างขึ้นโดยแม่ทัพที่วางแผนการรบบนโต๊ะทราย, ใช้เป็นปฏิทินโบราณที่ใน 1 ปีจะมี 361 วัน และการทำนายโดยจะเห็นว่ากระดานเป็นเหมือนกับจักรวาลและเม็ดหมากเป็นดั่งดวงดาว

หมากล้อมนั้นยังถูกอ้างอิงถึงในงานเขียนของขงจื้อและ เม่งจื้อ และกล่าวไว้ด้วยว่าหมากล้อมเป็นเกมที่จำลองยุทธศาตร์, การปกครอง, วิถีชีวิต ที่ได้รับความนิยม และถูกพรรณนาในช่วงยุคชุนชิวของประเทศหลู่ ( 722-484 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จนถึงยุคจั้นกั่ว (ถึงปี 221 ก่อนคริสต์ศักราช)

ชาวจีนโบราณเปรียบเทียบการเล่นหมากล้อมไว้ว่า เสมือนการสนทนาด้วยมือ (Hand Talk) บางคนบอกว่าหมากล้อมเป็นหมากกระดานที่มีชีวิตเนื่องจากเล่นบนกระดาน 361 จุด บนกระดานหมากล้อมที่เกิดจากเส้นแนวตั้งและเส้นตามขวาง 19 เส้นพาดตัดกัน สร้างความน่าจะเป็นในการวางหมากได้นับล้านๆรูปแบบ ตามหลักคณิตศาสตร์ความน่าจะเป็นเท่ากับ 361! ( 361 x 360 x 359...x 1 หรือเท่ากับ 10 ยกกำลัง 768) จึงทำให้การวางเม็ดหมากมีความลุ่มลึกและทางเลือกมากมาย หมากล้อมจึงเป็นเกมที่ต้องใช่การศึกษาที่ยาวนานเป็นสุดยอดศิลปะทั้งยังเป็น ศาสตร์ท้าทายให้ผู้เล่นศึกษาแนวคิด ในการวางแผน มองการณ์ไกล ค้นหาโอกาส ชิงพื้นที่มาครอบครองภายใต้หลักการ

หมากล้อม เป็นเกมกระดานที่ต่างจากหมากกระดานประเภทอื่น ตรงที่เริ่มต้นเกมจาก "ความว่าง" กล่าวโดยนัยนี้ หมากล้อมจึงเป็นเกมกระดานที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาแห่ง "สูญตา" จาก "ความว่าง" ก่อเกิด "รูป" เม็ดหมากที่แต่ละฝ่ายผลัดกันวางบนกระดานหมากล้อมมี "คุณค่า" และ "ความหมาย" ที่ต่างกัน เพราะเม็ดหมากแต่ละเม็ดมิได้มี "คุณค่า" ภายในตัวที่แตกต่างกันตั้งแต่แรก แต่คุณค่าของมันขึ้นอยู่กับมิติสัมพันธ์แห่งรูปทรงที่เม็ดหมากเชื่อมโยงกัน และบริบทที่อยู่รายรอบ


กระดานโบราณขนาด 17x17 นี้อยู่ในยุคของ Han Dynasty (206 BC - 8 AD) เป็นกระดานในยุคต้นๆที่ถูกค้นพบใน WangDu, Hebei ในปีค.ศ. 1954


กระดานเครื่องลายครามนี้อยู่ในยุค Sui Dynasty (581 - 618 AD) เป็นกระดานขนาด 19x19 ถูกค้นพบในปี 1971 ที่ Yang, Hunan

หมากล้อมได้เผยแพร่สู่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นแผ่นดินทองของ "หมากล้อม" เมื่อไรไม่มีใครทราบแต่มีคำกล่าวว่าหมากล้อมได้ถูกนำมาโดย กิบิ โน มากิบิ (Kibi no Makibi) ผู้ซึ่งถูกส่งไปประเทศจีนในฐานะทูต ในช่วงยุคนารา (นะระจิได) (ปี 710-794) ในปีค.ศ. 717 และกลับมาในช่วงปี ค.ศ. 735 ตรงกับสมัยราชวงศ์ถังของจีนซึ่งเป็นยุคที่จีนเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและ การค้าอย่างมาก มีสัมพันธ์ไมตรีกับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น อาหรับ หรือประเทศในชมพูทวีป ประเทศเหล่านี้ต่างส่งข้าราชการระดับสูงมาศึกษาวิทยาการในแผ่นดินจีน ทั้งด้านการเกษตร การปกครอง ศิลปะและปรัชญา ซึ่งหมากล้อมก็เป็นหนึ่งในวิทยาการสาขาศิลปะแนวปรัชญาที่ถูกถ่ายทอดให้กับ ชาวต่างชาติที่เดินทางเยือนจีนในขณะนั้น

  

หมากล้อมเติบโตและ พัฒนาในประเทศญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว เพราะได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างมากจากชนชั้นปกครอง ถึงกับมีการจัดแข่งขันชิงตำแหน่ง "ราชาหมากล้อม" ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า "เมย์จิน (Meijin)" ในปลายยุคของโชกุนปกครองแผ่นดิน โชกุนนามอิเอยาสึตระกูลโตกุกาว่าซึ่งเป็นโชกุนตระกูลสุดท้ายของญี่ปุ่น ปราบโชกุนอื่นๆสร้างเอกภาพในญี่ปุ่นแล้ว ได้สนับสนุนให้ทหารเล่นหมากล้อมเพื่อทดแทนการรบพุ่ง เปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการต่อสู้ด้วยปัญญา ทั้งยังได้สนับสนุนให้หมากล้อมแพร่หลายเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จนในปีค.ศ.1612 ได้จัดตั้งองค์กรจัดระเบียบหมากล้อมโดยแบ่งหมากล้อมออกเป็น 4 สำนัก ได้แก่ สำนักฮงนินโบ (Honinbo) ยาสุอิ (Yasui) อิโนอูเอะ (Inoue) และ ฮายาชิ (Hayashi) ผู้ใดก็ตามที่ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าสำนักแล้วจะได้ใช้นามสกุลของสำนักนั้น เพราะถือว่าเป็นเกียรติประวัติและเป็นตัวแทนของตำแหน่งด้วย แต่ละสำนักจะฝึกสอนลูกศิษย์ของตนเอง และคัดเลือกผู้ที่มีฝีมือดีที่สุดไปประชันปัญญากับศิษย์สำนักอื่น เกือบทุกปีโชกุนหรือไม่ก็องค์จักรพรรดิจะมาเป็นประธานผู้ชนะการแข่งขันจะ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจาก 4 สำนักดังกล่าวสำนักฮงนินโบมีฝีมือโดดเด่นที่สุด 

หมากล้อมในปัจจุบันเป็นที่นิยมทั่วโลกมีผู้เล่นหมากล้อมกว่า 100 ล้านคน โดยในปีค.ศ. 1979 ได้ก่อตั้งสมาพันธ์หมากล้อมนานาชาติ (IGF-The International Go Federation) มีสมาชิกเริ่มแรก 15 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 1983 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกกว่า 70 ประเทศ


รายชื่อสมาชิกทั้งหมดของสมาพันธ์โกะโลก (IGF) ในปัจจุบัน

สมาพันธ์หมากล้อมนานาชาติ (IGF) เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ General Association of International Sports Federations (GAISF) ในปีค.ศ. 2005 ซึ่งมีผลช่วยให้ประเทศสมาชิกของสมาพันธ์หมากล้อมนานาชาติ (IGF) มีสิทธิ์ขอคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งชาติ (NOC-National Olympic Committee) เข้าเป็นสมาชิกกีฬาโอลิมปิคในประเทศของตนเองหรือ ขอบรรจุในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ


             

ประวัติสมาคมหมากล้อมแห่งประเทศไทย (ประธานสมาคม คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์)
1993   -   จัดตั้ง ชมรมหมากล้อม(โกะ) แห่งประเทศไทย
1994   -   เป็นกีฬาสาธิตในกีฬามหาวิทยาลัยครั้งที่ 22
1995   -   บรรจุอย่างเป็นทางการในกีฬามหาวิทยาลัยครั้งที่ 23
1996   -   เริ่มการแข่งขันหมากล้อมอุดมศึกษา University Go Tournament (U-Go)
1997   -   เริ่มการแข่งขัน Thailand Open Go Tournament
2001   -   ชมรมหมากล้อม(โกะ)แห่งประเทศไทย จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาหมากล้อม
2003   -   เปลี่ยนสถานะภาพเป็น สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย
2006   -   บรรจุเป็นกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 35 “สุพรรณบุรีเกมส์”
2007   -   บรรจุเป็นกีฬาสาธิตในซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา
2010   -   บรรจุอย่างเป็นทางการในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่ประเทศจีน



แปลและเรียบเรียงโดยคุณ สัจจา ชัยภิบาล 2 ดั้ง

ขอขอบคุณ http://maklom.com



   

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...